แนะนำศูนย์ฯ

ประวัติการก่อตั้งศูนย์ฯ (History)

ปีพุทธศักราช 2540 ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นความสำคัญในภาระหน้าที่การเลี้ยงดูบุตรวัยก่อนอนุบาล (แรกเกิด- 3 ขวบ) ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หากไม่มีผู้ดูแลไว้วางใจได้ ย่อมก่อให้เกิดความห่วงกังวล จนบางครั้งต้องหยุดงานเพื่ออยู่ดูแลบุตรทำให้ประสิทธิภาพของงานราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ลดลง ได้ตระหนักในปัญหาดังกล่าวนี้ เดือนพฤษภาคม 2540 ท่านจึงได้อนุมัติเงินรายได้กลาง วงเงิน 1,450,000 บาท ให้แก่ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร ดำเนินการปรับปรุงอาคาร วิทยพัฒนาชั้น 4 เป็นห้องโถงโล่ง เนื้อที่ 525 ตารางเมตร พร้อมคุรุภัณฑ์จัดตั้งศูนย์บริบาลและพัฒนาเด็กเล็กชั่วคราว จนกว่าจะสามารถสร้างอาคารของศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งสวัสดิการถาวรสำหรับบุคลากรของมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ได้ดำเนินการออกแบบตกแต่งพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นให้เป็นศูนย์บริบาลและพัฒนาเด็กเล็ก ระหว่างมิถุนายน – กรกฎาคม 2540 โดยส่งอาจารย์พร้อมบุคลากรของศูนย์ฯ จำนวน 8 คนไปอบรม ณ สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2540 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และกลับมาปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชาการ และเป็นพี่เลี้ยงประจำศูนย์ ศูนย์บริบาลและพัฒนาเด็กเล็กได้เปิดปฐมฤกษ์ให้ผู้ปกครองเข้าเยี่ยมชมสถานที่ในวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2540 มีเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน – 2 ขวบ 3 เดือนมารับใช้บริการครั้งแรก จำนวน 16 คน

ปรัชญา (Philosophy)

พัฒนาทุนสมองในช่วงวัยทองของทารกเพื่อความมีคุณภาพชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วิสัยทัศน์ (Vision)

มุ่งมั่นให้ศูนย์บริบาลและพัฒนา เด็กเล็กเป็นแหล่งวิชาการต้นแบบการพัฒนาศักยภาพทางสมอง พัฒนาการทั้ง 4 ด้าน (ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม)
เพื่อความมีคุณภาพชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ศูนย์บริบาลและพัฒนาเด็กเล็ก  ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการอภิบาลและพัฒนาเด็ก โดยมีหลักการ  3 ประการ คือ
1) หลักการพัฒนาทารกให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณภาพพื้นฐานจิตใจที่ดี ปลูกฝังคุณธรรม และสร้างภูมิคุ้มกันโดยการสร้างความแข็งแรงทางด้านร่างกายและจิตใจ
2) หลักการพัฒนาทารกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและให้สามารถพึ่งตนเองตามวัย
3) หลักการพัฒนาทารกให้มีศักยภาพสมบูรณ์แข็งแรงได้รับการพัฒนาทางสมองและพัฒนาการทั้ง 4 ด้านอย่างเพียงพอ ด้วยการจัดกระบวนการที่สมดุล และพัฒนาเด็กให้มีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

พันธกิจ (Missions)

ใช้หลักวิชาการทางคหกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์ในการศึกษาวิจัยเพื่อจัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมให้เด็กวัยทารกอายุ 0-3 ปี ได้ใช้สัมผัสทั้งห้า (หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง) ในการพัฒนาเครือข่ายใยประสาท และพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมให้เจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพโดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ และครอบครัวเพื่อความมีคุณภาพชีวิตของเด็กวัยทารกตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง